ว่านไพลดำ

42 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่านไพลดำ

ว่านไพลดำ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber ottensii Valeton จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
          สมุนไพรว่านไพลดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ปูเลยดำ (ภาคเหนือ), ไพลดำ ไพลม่วง ไพลสีม่วง (กรุงเทพฯ), ไพลสีม่วง ดากเงาะ (ปัตตานี), จะเงาะ (มลายู-ปัตตานี), ว่านกระทือดำ เป็นต้น
          ลักษณะของว่านไพลดำ
ต้นว่านไพลดำ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ขึ้นเป็นกอ ความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร และอาจสูงได้ถึง 5 เมตร เหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อภายในเหง้าเป็นสีม่วง สีม่วงจางๆ หรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อนคล้ายไพล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ต้องใช้ดินที่มีสีดำในการปลูก (ถ้าเป็นสีอื่นปลูกจะทำให้ต้นตาย เพราะว่านชนิดนี้เจริญงอกงามได้ในดินสีดำเท่านั้น) พบขึ้นได้ตามป่าเขตร้อนชื้น
          ใบว่านไพลดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเรียว โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 26-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เส้นกลางใบเป็นร่องสีเขียวอ่อน ด้านล่างและเส้นกลางใบมีขน ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น มีสีม่วงคล้ำ กาบใบซ้อนกันแน่น ไม่มีขนหรือมีบ้างประปราย ลิ้นใบยาวที่ปลายกาบใบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน
          ดอกว่านไพลดำ ออกดอกเป็นช่อ จากโคนต้นแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ช่อดอกยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 14 เซนติเมตร โดยช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกถึงเกือบกลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน เป็นสีเหลืองอ่อน มีประสีม่วงแดงอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบาง โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกมีใบประดับสีเขียวปนแดงวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างเป็นระเบียบดูคล้ายกับเกล็ดปลา ใบประดับเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีแดงอมเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดงเข้ม กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีใส เกสรเพศผู้ ส่วนที่เป็นกลีบมีหยัก 3 หยัก โดยหยักกลางหรือกลีบปากใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปกลมแกมรูปขอบขนาน ปลายแยก 2 หยักตื้น พื้นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อน ประสีน้ำตาลแดงแกมสีชมพูอ่อน ส่วนหยักข้างมี 2 หยักสั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ปลายจะเป็นจะงอยยาวโค้ง สีเหลืองส้ม ส่วนเกสรเพศเมีย ก้านเกสรเป็นสีขาว ยอดเกสรมีลักษณะเป็นรูปกรวย สีขาว รอบ ๆ ปากมีขน และรังไข่เป็นสีขาว โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
          ผลว่านไพลดำ ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก สีแดง และจะติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
          ประโยชน์ของว่านไพลดำ
ในด้านของความเชื่อ ว่านไพลดำเป็นว่านทางคงกระพันชาตรี การนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรี จะต้องเสกด้วยคาถา “พุทธังเป็นยา ธัมมังรักษา สังฆังหาย ตะหัง นะหิโสตัง” 3 จบ และ “นะโมพุทธายะ” 7 จบ บางข้อมูลระบุว่า ว่านไพลดำจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีม่วงอมน้ำตาล (เด่นในเรื่องอยู่ยงคงกระพัน), และ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีดำ (เด่นในเรื่องการชักนำเงินทอง และปัจจุบันหายากมาก)
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ว่านไพลดำเป็นพรรณไม้ที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง เนื่องจากปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษาทำได้ยาก ต้องใช้ดินดำในการปลูก (ดินสะอาดกลางแจ้งที่นำไปเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด) กลบหัวว่านอย่าให้มิด แต่ให้เหลือหัวโผล่ไว้ และก่อนรดน้ำต้องเสกด้วยคาคา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ แล้วรดน้ำให้พอเปียกทั่ว

อ. ธัชกร ธีรปัญญานนท์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้