ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว

44 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว

ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว

          ว่านเสน่ห์จันทน์นี้ นิยมเล่นกันเป็นคราวๆ ในประวัติศาสตร์สมัยพระนครศรีอยุธยา เป็นราชธานี ก็นิยมเล่นกันมากในสมัยขุนวรวงษาธิราชหนหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราชอีกครั้งหนึ่ง ถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็ยังมีผู้นิยมเล่นโดยเสาะแสวงหาว่านจำพวกนี้กันอยู่เสมอ แต่หายากสักหน่อยหนึ่ง ราคาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นค่อนข้างออกจะแพง ว่านจำพวกนี้จึงมีอยู่แต่ภายในรั้วในวัง และตามบ้านของคุณพระ พระยา เจ้าพระยา และพวกเสนาบดีทั้งหลายเท่านั้น ว่านจำพวกนี้เป็นว่านเสี่ยงทาย และเป็นว่านชี้ชะตาของเจ้าของหรือผู้ปลูก, ผู้ร้กษา ว่าชะตาขึ้นหรือลงจะมีหรือจะจน
          เรื่องเสน่ห์มหานิยมนั้นเป็นสรรพคุณของว่านจำพวกนี้ เมื่อบ้านใครมีปลูกไว้แล้วย่อมเป็นเสน่ห์มหานิยมแก่บ้านนั้น ร้านค้าร้านขายนั้น เชื่อถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดกันมาว่า ว่านจำพวกนี้ถ้าเจ้าของเลี้ยงดี ไม่ข้ามไม่ยํ่าไม่เหยียบ จะบันดาลให้รํ่าให้รวย ทำราชการก้าวหน้า ทำธุรกิจคล่องตัว มีผู้นิยมชมชอบไปมาหาสู่ไม่ขาดดังนี้ (เข้าใจว่าสมัยนั้นชอบเล่นว่านเล่นบอน กันอยู่เมื่อชมของตัวเองเบื่อก็ไปเที่ยวชมเที่ยวดูของผู้อื่น เพราะบ้านเรือนในสมัยนั้นนับบ้านนับเรือนกันได้) ส่วนต้นว่านนั้นถ้างอกงามดี ก็หมายความว่าเจ้าของจะดีจะมีลาภ จะได้เลื่อนยศจะอยู่เป็นสุข ถ้าเลี้ยงว่านเหี่ยวแห้งล่วงโรย ไม่งามเหมือนของผู้อื่นเขา ก็หมายความว่า จะต้องมีอะไรเป็นเหตุเหล่านั้น คือไม่ราบรื่น ไม่รํ่ารวย เจ็บๆ ป่วยๆ ดังนี้ (คนในสมัยนั้นทุกผู้ทุกมนุษย์เป็นคนซื่อจึงเชื่อตามกล่าวตามเล่ากันมา) เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จึงจะได้รู้ จะได้หาทางแก้ไขกันไปตามกาลตามสมัยฯ
          ครั้นต่อมาในราวค่อนศตวรรษด้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากราชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตย พวกเจ้าพวกนายมัวแต่ยุ่งมัวแต่ระวังตัว จึงปล่อยประละเลยเรื่องว่านหันมาเล่นการเมือง จึงปล่อยให้ข้าราชบริบาร หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลี้ยงกันไปตามใจชอบ ไม่บังคับไม่เคี่ยวเข็น จะแยกจะซ่อนเล่นไปให้ใคร ไปฝากใคร ก็มิได้ห่วง ว่านจำพวกนี้จึงได้เล็ดลอดออกมาสู่ในบรรดาบุคคลสามัญธรรมดา แจกกันบ้าง ขอกันบ้าง ขายกันบ้าง จึงได้แพร่พันธุ์ มาเกิดฮือฮาในปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังนิยมเล่นกันอย่างออกหน้า ออกตาขายกันในราคาแพงๆ ว่านเสน่ห์จันทน์ที่นิยมกันในสมัยที่กล่าวนั้น มีอยู่ด้วยกัน 7 อย่างคือ
1. ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์
2. ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์กรายจากเสน่ห์จันทน์ขาว
3. ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว
4. ว่านเสน่ห์จันทน์แดง
5. ว่านเสน่ห์จันทน์เขียว
6. ว่านเสน่ห์จันทน์หอม
7. ว่านเสน่ห์จันทน์ทอง
          คนโบราณมักนำมาแกะเป็นรูปนางกวักพร้อมแต่งดอกไม้ธูปเทียน บูชาพระ สวดพระคาถา แม่นางกวัก ดังนี้
ตั้งนะโม ๓
"โอมปู่เจ้าเขาเขียวมีลูกสาวคนเดียว ชื่อว่าแม่นางกวัก หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายรัก อยู่ทุกถ้วนหน้า
เอหิมามะมะ อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ
จะค้าขายก็ขอให้เป็นเศรษฐี หนึ่งปีให้เป็นพ่อค้าสำเภาทอง จะค้าเงินขอให้เงินเข้ามากอง จะค้าทองขอให้ไหลมาเทมาเต็มบ้านเต็มเรือน จะค้าขายสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้ซื้อง่ายขายคล่อง ขอให้ซื้อง่ายขายดี ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ นะมะอะอุ นะชาลีติ อิกะวิติ พุทธะสังมิ ทุสะมะนิ อิธะคะมะ จะพะกะสะ นาสังสิโม สุมะโมโล นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมตตา โมขายดี พุทธไม่ต่อ ธาซื้อดี ยะใจดี มิใจอ่อน รักพุทโธ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง สิทธิโภคา สิทธิพะลา สิทธิจะมหาเดชา นะชาลีติ เอหิจงมา พุทธะสังมิ นิมามะมามา
มาช่วยกันค้า มาช่วยกันขาย กวักเอาเงินมา กวักเอาทองมา กวักเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ หน้าที่การงาน ผู้คน ชื่อเสียงเกียรติยศ ข้าทาสหญิงชายมา
มาด้วยนะโมพุทธายะ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง พุทธังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ธัมมังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี สังฆังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เตชะสุเนมะภูจะนาวิเวอิติ นะเยปะรังยุตเต
ขอจงนำเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ มาสู่ในสถานที่นี้ด้วย เทอญ
พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา
พุทธังคุ้ม ธัมมังคุ้ม สังฆังคุ้ม
เอหิพุทธานุภาเวนะ เอหิธัมมานุภาเวนะ เอหิสังฆานุภาเวนะ
อายุ วรรโณ สุขัง พลัง"
และพกติดตัวเพื่อให้ผลทางเสน่ห์เมตตามหานิยม

อ. ธัชกร ธีรปัญญานนท์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้